top of page

Carrying capacity กับสิ่งแวดล้อมของไทย


4 ธันวาคมของทุกปีเป็น #วันสิ่งแวดล้อมไทย วันนี้ก็เลยอยากจะมาชวนคุยเรื่อง carrying capacity ค่ะ


(Ecological) carrying capacity หรือขีดความสามารถในการรับรองของพื้นที่ที่กำหนด หมายถึงระดับความสามารถของพื้นที่นั้นในการทนทานต่อกิจกรรมและความเปลี่ยนแปลงอย่างมีคุณภาพ ยังสามารถคงไว้ซึ่งสภาพแวดล้อมและผลผลิตของระบบ รวมทั้งทดแทนสิ่งที่สูญเสียไปได้ หรือมองอีกแง่ ก็คือค่าสูงสุดของกิจกรรมที่พื้นที่นั้นจะสามารถรองรับได้ (threshold) โดยที่สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศยังไม่เสื่อมโทรมนั่นเองค่ะ


ปัจจุบัน คำว่า carrying capacity นิยมนำมาใช้ประเมินค่าความสามารถในการรองรับกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ในแต่ละสถานที่ด้วย เช่น facility carrying capacity, physical carrying capacity, etc. เพื่อช่วยให้บริหารกิจกรรมต่างๆ ได้โดยไม่เกิดผลกระทบต่อพื้นที่และผู้คนจนเกินไป (นึกภาพคอนเสิร์ตที่ไปกันหลักพัน แต่มีห้องน้ำ 3 ห้องออกใช่ไหมคะ?)


Tourism carrying capacity หมายถึงจำนวนนักท่องเที่ยวสูงสุดที่จะเข้าไปเยี่ยมชมพื้นที่หนึ่งได้ในเวลาเดียวกัน โดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของเจ้าบ้านจนเกิดไป และไม่สร้างปัญหาให้กับนักท่องเที่ยวกันเองจนได้รับประสบการณ์ที่ไม่ดีด้วย


ในพื้นที่ของธรรมชาติที่มีความสำคัญและเปราะบางอย่างพื้นที่อนุรักษ์ต่างๆ ของประเทศไทย การจัดการจำนวนนักท่องเที่ยวเป็นประเด็นร้อนแรงเสมอมา เพราะในขณะที่มีความพยายามจะทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติเข้ามาให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แต่ว่าในแต่ละเขตอนุรักษ์กลับรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวได้เพียงเท่าที่ carrying capacity ด้านกายภาพ สิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจของมันจะเอื้ออำนวยเท่านั้น ทำให้หลายแหล่งท่องเที่ยวเกิดอาการ “ตาย” (perishable) มีสภาพไม่สวยงามน่าเที่ยวอีกต่อไป


ในเดือนเมษายน ปี 2556 เกิดพายุใหญ่ขึ้นจนเกิดเหตุนักท่องเที่ยวติดเกาะตาชัยกันเป็นจำนวนมากจนต้องนำเรือหลวงปัตตานีเข้าไปรับ ซึ่งพบว่ามีนักท่องเที่ยวติดค้างอยู่ถึง 455 คน สวนทางกับตัวเลขนักท่องเที่ยวสูงสุดของเกาะบอน-ตาชัยในอุทยานแห่งชาติสิมิลันที่เคยบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2551 จำนวนไม่เกิน 110 คน หรือเกินมา 4 เท่า


เหตุการณ์นี้บอกอะไรกับเรา?


อย่างไรก็ตาม ช่วงปลายปี 2561 กรมอุทยานฯ ได้ออกประกาศจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวในพื้นที่อุทยาน 10 แห่งทั่วประเทศ พื้นที่ที่มีเสียงคัดค้านมากที่ก็ยังคงไม่พ้นอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันเช่นเคย โดยประกาศจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวไม่เกินวันละ 3,850 คน จากเฉลี่ยวันละ 4,000-7,000 คน และห้ามพักค้างคืนด้วย


แต่ถึงอย่างไร โควิด-19 ของปี 2563 ก็ทำให้การจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวเป็นไปอย่างจริงจังมากขึ้น (หรือเปล่า?) และมีการพูดคุยกันถึงแนวคิดที่จะปิดอุทยานแห่งชาติ 133 แห่งทั่วประเทศ เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 3 เดือนทุกปีเพื่อให้ธรรมชาติพักฟื้น ซึ่งตามมาด้วยข้อถกเถียงมากมายถึงประสิทธิภาพการดูแลอุทยานของเจ้าหน้าที่ เนื่องจากในอุทยานหลายแห่งที่ปิดไปนั้น แทนที่เปิดมาแล้วนักท่องเที่ยวจะได้พบกับสัตว์ป่าร่าเริง แต่กลับได้เห็นหลักฐานการลักลอบล่าต่างๆ และหลักฐานของสิ่งก่อสร้างใหม่ๆ ในพื้นที่อนุรักษ์


การจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวหรือแม้แต่ห้ามขาดไปเลยอาจเป็นทางเลือกที่ดูง่ายที่สุด แต่การท่องเที่ยวแบบมีจิตสำนึก หรือ conscious travel ในขั้นแรกอาจะต้องเริ่มด้วยการมองเห็นพื้นที่อนุรักษ์เป็นทรัพยากรที่ต้องดูแลรักษา และลดการมองเห็นนักท่องเที่ยวเป็นตัวเลขจำนวนหัวตาม KPI แต่มองถึงคุณภาพและผลกระทบของนักท่องเที่ยวให้มากขึ้นกว่าเดิม แบ่งเขตการใช้ประโยชน์ (zoning) การให้ความรู้และวิธีปฏิบัติตัว ข้อกำหนดเกี่ยวกับธรรมชาติต่างๆ เชิงรุกกับนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการ เพื่อส่งเสริมความเข้าใจในธรรมชาติให้มากขึ้น


ทางออกที่ยั่งยืนของการท่องเที่ยวธรรมชาติ คงไม่ได้ทำกันง่ายๆ เพียงแค่ปิด-เปิดอุทยานเป็นพักๆ แน่นอน : )


//แอดหน่า

3,626 views0 comments
bottom of page