ปกติในการถ่ายภาพใต้น้ำด้วย strobe จะมีข้อจำกัดหลักๆ อยู่ 1 ข้อคือ sync speed ซึ่งคือความไวชัตเตอร์ที่สูงสุดที่กล้องและ strobe (ธรรมดา) จะสามารถทำงานด้วยกันได้โดยไม่มีแถบดำเกิดขึ้นในภาพ โดย sync speed ของกล้อง fullframe จะอยู่ที่ประมาณ 1/200 (อาจจะเร็วหรือช้ากว่านี้นิดหน่อยขึ้นกับการทำงานของม่านชัตเตอร์ของแต่ละรุ่นกล้อง) ใน flash บกหลายๆ รุ่นจะมี function ที่เรียกว่า High Speed Sync หรือ HSS ซึ่งจะทำให้เราใช้ความไวชัตเตอร์ที่สูงกว่า sync speed ได้ ซึ่ง function นี้มักจะใช้กันบ่อยในวงการถ่ายภาพ portrait โดยเฉพาะกับการถ่ายภาพบุคคลแบบย้อนแสงที่ต้องการรายละเอียดฉากหลัง
แต่ strobe ใต้น้ำส่วนใหญ่ในตลาดไม่มี function High Speed Sync ทำให้การถ่ายภาพใต้น้ำแบบย้อนแสง โดยเฉพาะภาพที่มีฉากหลังเป็น sunburst (ถ่ายย้อนแสงไปหาดวงอาทิตย์ตรงๆ) ในวันน้ำใสๆ นั้นมักมีปัญหา เพราะข้อจำกัดของ sync speed ที่ยอมให้เราปรับความไวชัตเตอร์ได้ไม่เกิน 1/200 ถ้าจะเก็บรายละเอียดแสง highlight รอบๆ sunburst เราจำเป็นต้องปรับรูรับแสงให้แคบมากๆ ปัญหาที่ตามมาคือ strobe ของเรานั้นมีกำลังไม่พอที่จะ fill-flash ไปที่ subject หากเราใช้รูรับแสงที่แคบเกินไป กลายเป็นปัญหางูกินหาง ถ้าเปิดรูรับแสงกว้างเพื่อรับ flash ฉากหลังก็จะ over-exposed แต่ถ้าเปิดรูรับแสงแคบ subject ก็จะมืด under-exposed
แต่เมื่อเร็วๆ นี้เราได้รับข่าวดีว่าร้าน AXD Scuba Diving จะนำ Retra Flash Pro มาขายในเมืองไทย ซึ่งเจ้า Retra Flash Pro นี้ สามารถยิง High Speed Sync ได้เมื่อใช้ร่วมกับ flash trigger ของ UW Technics ซึ่งก็มีขายอยู่ที่ Dive Supply Bangkok เราเลยไม่รอช้าไปจัด TTL Flash Trigger for Sony (Nauticam) ของ UW Technics มาก่อนเลย เพราะอย่างน้อยมันสามารถใช้ mode TTL กับ INON Z330 ตัวเก่าของเราได้ด้วย (ซึ่งเดี๋ยวอาจจะเขียนเรื่องการใช้ TTL Flash Trigger กับ INON อีกบทความนึงถ้าว่างนะฮะ)
ส่วนเจ้า Retra Flash Pro ทาง AXD Scuba Diving ก็จัดมาให้ลอง 2 ตัว พร้อมกับ Supercharger (แผงใส่ถ่านเพิ่มจากปกติ AA 4 ก้อน กลายเป็น AA 8 ก้อน) เนื่องจาก function HSS นั้นเปลืองแบตมหาศาล ถ้าใช้แบตแค่ 4 ก้อน อาจจะหมดกลางทางได้ง่ายๆ และที่สำคัญ Supercharger จะทำให้ recycle time ของ strobe เร็วขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
หลังจากไปลองใช้มา 15 ไดฟ์ที่อันดามันเหนือ ก็พบว่าซวยล่ะอยากได้ขี้นมาทันที เพราะ Retra Flash Pro มันเวิร์คมาก แสงที่ render ออกมาดีงาม กำลังแสงสูงมาก (กำลังสูงสุดน่าจะแรงกว่า INON Z330 และ Sea&Sea YS-D3 อยู่พอสมควร) แล้วที่สำคัญคือ มุมแสงที่ยิงออกมากว้างมาก กว้างพอที่จะสามารถ cover องศาการรับภาพของ WACP-1 (130 องศา)ได้สบายๆ การจัดแสงไม่ให้เกิดหลุมตรงกลางในจังหวะที่เข้าใกล้ subject สุดๆ ก็ทำได้ไม่ยาก แต่แสงที่ได้จะออกแนวอุ่นๆ หน่อย แสง strobe ที่อุ่นจะทำให้ฉากหน้ามีความอมส้มซึ่งถ้าปรับ WB ที่ฉากหน้าให้พอดี ฉากหลังจะออกน้ำเงินจัดหรือติดม่วงนิดๆ ซึ่งภาพจะดูสีสดปรี๊ดได้ง่าย แต่ส่วนตัวแล้วเราชอบให้แสง strobe สีแนวเย็นๆ มากกว่าเพราะเมื่อปรับทำสีของ foregroundให้พอดี สีที่ฉากหลังจะไม่น้ำเงินสดมากเกิน สีโดยรวมจะดู soft กว่า แต่เรื่องนี้ก็แล้วแต่รสนิยมของแต่ละคนฮะ
ส่วน function HSS พอเอาไปใช้ก็พบว่า มันทำให้เราสร้างมิติภาพใหม่ๆ หลายๆ อย่างที่ไม่เคยทำได้ หรือ ทำได้ยาก เช่นการถ่ายย้อนแสงให้ได้รายละเอียด sunburst สวยๆ ตัวอย่างเช่นปะการังรูปข้างล่างนี้ เราใช้รูรับแสงกว้าง f/6.3 เพื่อให้ strobe สามารถยิงครอบคลุมปะการังอ่อนกอใหญ่นี้ได้ทั้งหมด และ ดันความไวชัตเตอร์ขึ้นไปถึง 1/2500 เพื่อลดแสง highlight บริเวณ sunburst ให้พอดีเพื่อเก็บรายละเอียดของผิวน้ำ ซึ่งภาพนี้ถ้าใช้ strobe ธรรมดา แล้วอยากเก็บ highlight sunburst ให้ได้ตามนี้เราจะต้องดันรูรับแสงไปที่ f/22 เพื่อให้ความไวชัตเตอร์อยู่ภายใน sync speed ที่ 1/200 แต่ที่รูรับแสงแคบขนาด f/22 กำลังไฟของ strobe ก็จะไม่พอที่จะส่องสว่างปะการังกอนี้ได้
อีกกรณีนึงคือภาพปลาฝูงที่อยู่ห่างจากเราไปสักนิด ภาพบาราคูด้าไซโคลนข้างล่างนี้ใช้รูรับแสง f/9 ความไวชัตเตอร์ที่ 1/500 เพื่อเก็บรายละเอียดผิวน้ำ ที่ f/9 strobe ยังสามารถส่องไปถึงฝูงปลาด้านล่างให้พอสร้าง contrast ระหว่างปลากับ background สีเข้มของน้ำได้ แต่ถ้าเราใช้ strobe ธรรมดา เราจะต้องดันรูรับแสงไปที่ f/14 เพื่อให้ได้ความไวชัตเตอร์ไม่เกิน 1/200 ซึ่งถ้าใช้รูรับแสงที่แคบขนาด f/14 strobe ของเราก็คงไม่มีทางไปถึงบาราคูด้าด้านล่างได้เลย ภาพที่ได้ก็จะขาด contrast ของตัวปลากับน้ำด้านหลังเมื่อเอามาทำภาพขาวดำตัวปลาด้านล่างก็จะกลืนหายไปกับสี background ไปหมด
หรือในกรณีภาพด้านล่างนี้ใช้ความไวชัตเตอร์ที่ 1/500 รูรับแสง f/6.3 เพื่อให้แสงจาก strobe สามารถคลุมพื้นที่ของฝูงบาราคูด้าด้านหน้าได้ทั้งหมดและให้รายละเอียดของสีที่ครบถ้วน ถ้าเราใช้ strobe ธรรมดา ความไวชัตเตอร์ต้องอยู่ที่ 1/200 แปลว่า ต้องลดรูรับแสงไปที่ f/11 ทีนี้กำลัง strobe ก็จะไม่สามารถครอบคลุมฝูงบาราคูด้าด้านหน้าได้ทั้งหมด
สรุปว่าเจ้า Retra Flash Pro นี้มันดีงามมาก แต่ไม่ใช่ว่ามันจะไม่มีที่ตินะครับ ตอนใช้งานก็พอจะมีปัญหาให้หงุดหงิดใจอยู่บ้าง เช่นระบบ TTL ใช้งานไม่ได้ไป 1 ข้าง ระบบ manual บางครั้งยิงออกบ้าง ไม่ออกบ้าง บางครั้งกำลังไฟไม่ตรงกับที่เราปรับ หรือไฟยิงออกมาไม่ตรงกับที่เราปรับ ซึ่งบางปัญหาก็อาจจะมาจาก user error ที่เราเอง แต่บางปัญหาก็อาจจะมาจากตัว strobe หรีอการ setup แต่ในจังหวะที่เจ้า Retra Flash Pro มันไม่พยศ มันคือ strobe ที่ใช้เจ๋งทีสุดเท่าที่เคยใช้มาในชีวิตเลยฮะ
อุปกรณ์ที่ใช้ในการทดสอบ
กล้อง Sony A9
เลนส์ Sony FE 28-70 f/3.5-5.6 OSS
Housing Nauticam NA-A9
Nauticam WACP-1
UW Technics TTL Flash Trigger for Sony
Retra Flash Pro x 2
Retra Supercharge x 2
ขอขอบคุณ
AXD Diving สำหรับ Strobe Retra Flash Pro + Supercharger
Nauticam Thailand สำหรับ WACP-1
Dive Supply Bangkok สำหรับ UW Technics TTL Flash Trigger for Sony.
Comments