“ทะเลสองห้อง” จากมุมมองเหนือน้ำคือสระน้ำธรรมดาๆ ที่มีหน้าที่สำรองน้ำให้กับชุมชนในพื้นที่ ขนาดของพื้นที่เรียกได้ว่าเป็นทะเลสาบขนาดย่อม แต่สิ่งที่มองไม่เห็นเหนือผิวน้ำด้านบนนั้น คือระบบถ้ำและเส้นทางน้ำใต้ดินที่กว้างใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองไทย โพรงถ้ำใต้น้ำวางตัวอยู่ใต้ถนนและอาคารบ้านเรือนในชุมชนแถวนั้น กว้างใหญ่กว่าภาพของทะเลสาบที่เห็นจากด้านบน การสำรวจล่าสุดนักดำน้ำสามารถลงไปได้ถึงระดับความลึกสองร้อยเมตร แต่เส้นทางยังต่อเนื่องลาดลงลึกไปอีก และยังไม่มีทีท่าว่าจะพบจุดสิ้นสุดของโพรงถ้ำ...
บันทึกการดำน้ำในถ้ำน้ำจืดที่มีความพิเศษสุดๆ ที่เรียกว่าสองห้อง
จุดที่เราลงไปมีความลึกประมาณ 30 เมตร ถ้าเป็นการดำน้ำตามแนวปะการังปกติก็ไม่ได้น่าตื่นเต้นอะไรพิเศษ แต่ความพิเศษของพื้นที่นี้คือมันเป็นถ้ำ
การดำถ้ำที่จริงแล้วแบ่งคร่าวๆ ออกเป็น 2 แบบ แบบแรกคือ ถ้ำแบบ cave คือถ้ำที่เป็นท่อลึกเข้าไปแบบที่ไม่สามารถมองเห็นแสงแดดจากผิวน้ำด้านบนได้ แสงที่เรืองเข้ามาจากปากถ้ำอาจจะอยู่ในแนวนอนซึ่งจะไม่ได้บอกทิศทางสู่ผิวน้ำ การดำถ้ำแบบนี้จำเป็นต้องได้รับการฝึกฝนพิเศษ เพราะความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นมาจากการเข้าไปในพื้นที่ปิด การจะว่ายหนีขึ้นสู่ผิวน้ำทางตรงแบบทันทีนั้นทำไม่ได้
ส่วนอีกแบบซึ่งนักดำน้ำทั่วไปจะคุ้นเคยกันมากกว่าคือถ้ำแบบ cavern ซึ่งคือถ้ำที่มองเห็นแสงจากดวงอาทิตย์เหนือพื้นน้ำด้านบน ตัวอย่างถ้ำแบบนี้ที่ชัดเจนคือเกาะห้า ซึ่งระดับความลึก 30 เมตรของสองห้องเป็นถ้ำแบบ cavern
แต่สองห้องมีความพิเศษที่ว่า ชั้นตะกอนน้ำด้านบนที่ความลึกประมาณ 5-20 เมตร มีความหนามากทำให้แสงทะลุผ่านลงมาไม่ถึงด้านล่าง เมื่อลงมาได้ระยะหนึ่งทุกสิ่งรอบตัวจึงเป็นความมืดสนิท คล้ายกับการดำน้ำตอนกลางคืน
อุณหภูมิด้านล่างมีกระแสน้ำเย็นที่พัดมาเป็นวูบๆ ไม่เหมือนกับ thermocline ที่ใต้ทะเล มันคล้ายกับลมที่พัดมาแบบไม่รู้ทิศทาง ความต่างของอุณหภูมิทำให้การมองเห็นของเราต่ำลง ภาพด้านหน้าเบลอไหววูบเหมือนเวลามองผ่านไอแดด จังหวะแรกนึกว่าสายตาเราเริ่มมีปัญหาตามอายุที่เพิ่มขึ้น
พื้นที่ถ้ำของสองห้อง มีศัพท์เฉพาะเรียกว่า sink hole โครงสร้างผนังถ้ำเกิดจากการกัดเซาะพื้นที่เนื้อดินที่อ่อนนุ่มกว่าไปเรื่อยๆ จนเหลือแต่โครงสร้างหินแข็ง ลักษณะเฉพาะของถ้ำแบบ sink hole จึงแตกต่างจากถ้ำที่เคยเป็นถ้ำแห้งแล้วน้ำท่วมในภายหลัง
ในการดำถ้ำซึ่งมองไม่เห็นเกินแสงไฟด้านหน้า และความสับสนที่อาจเกิดขึ้นได้จากมองไม่เห็นสิ่งใดในสายตา เชือกที่ผูกวางไว้คือเส้นอ้างอิงของเส้นทาง เหมือนฮันเซลกับเกรเทลที่ทิ้งขนมปังไว้ตามทาง ถ้ายังมองเห็นเชือก เราก็ยังพอมีทางไป
นอกจากเชือกแล้วลูกศรชี้ทิศทางก็เป็นอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญ เพราะไม่ใช่ว่าเราจะตามเชือกไปถูกทิศทาง รู้ตัวอีกทีก็อาจจะว่ายผิดด้านไปตั้งไกลแล้วก็ได้ ลูกศรภายในถ้ำจะชี้ไปสู่ทางออกเสมอ จากจุดนี้จะเห็นแสงแดดเรืองมาทางด้านบนอยู่รำไร
เมื่อขึ้นมาจากโพรงด้านล่างก็เริ่มมีแสงทะลุส่องมาให้เห็นจากด้านบน ในน้ำจืดมีการเจริญเติบโตที่ดีของสาหร่ายและตะไคร่ ทำให้สีน้ำเขียวเข้มแตกต่างกับน้ำทะเลอย่างมาก ที่ความลึกประมาณ 12 เมตรมีโครงสร้างของ habitat ที่ยังประกอบไม่เรียบร้อย ลอยอยู่ โครงสร้างนี้จะเป็นห้องเล็กๆ ให้นักดำน้ำเข้าไปนั่งรอได้ในการทำ decompression stop อากาศด้านในจุถูกอัดมาจากเครื่องอัดอากาศต่อสายด้านบน บางครั้งการดำน้ำของ technical diver อาจจะต้องมีการแก้ decomp กันยาวนานหลายชั่วโมง ห้องแห้งที่ปรับความดันไว้ ให้สามารถกินอาหารหรือกินน้ำได้ถือเป็นความสะดวกสบายที่เพิ่มขึ้น
ความลึกด้านบน ในโซนที่แสงแดดส่องถึงเต็มไปด้วยซากไม้ล้มกองทับถมกัน แสงแดดเป็นตัวเร่งให้การเจริญเติบโตของตะไคร่น้ำ และสาหร่ายดียิ่งขึ้น น้ำจึงมีสีเขียวเข้ม
ระบบน้ำจืดแตกต่างกับทะเลอย่างมาก ในทะเลเราแทบจะไม่พบสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าพืชเท่าไหร่ แต่ที่นี่เต็มไปด้วยพืชในรูปแบบต่างๆ ปลาที่อาศัยในน้ำจืดมักจะมีสีซีดจาง แตกต่างจากในทะเลที่เต็มไปด้วยสีสัน แต่ความแตกต่างนี้ก็มีความน่าสนใจและน่าค้นหาซ่อนอยู่
ถึงแม้สองห้องจะมีช่วงความลึกให้นักดำน้ำทั่วไปลองลงไปสำรวจได้ แต่มันไม่ใช่พื้นที่ที่จะลงไปโดยไม่คิด การไปด้วยใจโดยไม่เตรียมการอะไรเลยใช้กับพื้นที่แบบนี้ไม่ได้ เพราะถึงแม้จะเป็นนักดำน้ำที่มีประสบการณ์ในการดำถ้ำ ก็ยังมีหลายคนที่เสียชีวิตไปในพื้นที่นี้จากหลายสาเหตุหลายสถานการณ์
การดำน้ำทุกครั้งไม่ว่าจะเป็นสถานที่ใดๆ ต้องทำด้วยสติและความไม่ประมาท สติที่ดีจะนำมาซึ่งความพร้อมในการรับเหตุฉุกเฉินที่ดี
Comments