top of page

Covid-19 กับการดำน้ำ

Updated: May 5, 2020


นักดำน้ำแบบ technical ที่ความลึก 60 เมตร

คุณหมอ Frank Hartig แพทย์อาวุโสของแแผนกฉุกเฉินและศูนย์อุบัติเหตุโรงพยาบาล University Innsbruck ในออสเตรีย ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ดูแลเรื่องโรค COVID-19 ของที่นั่น และเป็นนักดำน้ำเองด้วย เพิ่งตีพิมพ์เปเปอร์ออกมาเกี่ยวกับผลกระทบของโรคที่มีต่อนักดำน้ำ ดังนี้ค่ะ


ช่วงที่ผ่านมา คุณหมอได้รักษาคนไข้ที่เป็นนักดำน้ำ 6 คน ซึ่งทั้ง 6 คนนี้มีอาการของโรคในระดับต่ำที่ไม่ต้องเข้าพักในโรงพยาบาล รักษาตัวอยู่ที่บ้านเท่านั้น


แต่เมื่อ “หาย” แล้วไปตรวจ CT scan ดูอีกที คุณหมอก็พบว่าเนื้อเยื่อปอดของคนไข้ถูกทำลายอย่างไม่น่ากลับมาเป็นเหมือนเดิมได้อีกตลอดชีวิต


มี 2 คนที่มีอาการปอดระคายเคือง คล้ายคลึงกับกลุ่มโรคหอบ อีก 2 คนที่มีอาการออกซิเจนไปเลี้ยงไม่เพียงพอ คล้าย pulmonary shunt หรือกลุ่มอาการของภาวะความดันหลอดเลือดปอดสูง (สามารถนำไปสู่ภาวะการหายใจล้มเหลว) และ 4 ใน 6 คนมีภาพสแกนของช่องปอดที่เปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ซึ่งทำให้คุณหมอแปลกใจมากเพราะคนไข้ที่หายแล้วก็ดูภายนอกแข็งแรงดี ทำให้เช็คแล้วเช็คอีกหลายหน




คุณหมอแนะนำว่า นักดำน้ำที่มีประวัติการติดเชื้อ COVID-19 ไม่ว่าจะเป็นนักดำน้ำมือสมัครเล่น มืออาชีพ ครูสอนดำน้ำ ฟรีไดเวอร์ หรือนักดำน้ำเชิงพาณิชย์ ควรปรึกษาแพทย์ที่มีความรู้เรื่องการดำน้ำโดยเฉพาะก่อนกลับลงน้ำใหม่เพื่อความปลอดภัย แม้ว่าจะมีอาการเพียงเล็กน้อยก็ตาม เพราะผลกระทบต่อปอดอาจอยู่ได้เป็นอาทิตย์หรือเป็นเดือนหลังจากนั้น ทำให้ต้องงดดำน้ำและอาจรวมไปถึงการออกกำลังแบบอื่นด้วย


อาการหนึ่งที่ต้องระวังเป็นพิเศษ ดูจะมีความเกี่ยวข้องกับการใช้ออกซิเจนกับคนไข้ ซึ่งคุณหมอระบุว่าหลายคนเมื่อได้รับออกซิเจนแล้วมีอาการดีขึ้นก่อนจะทรุดลงอย่างรวดเร็วจากอาการปอดล้มเหลว (lung failure) จนต้องเข้าไอซียู ซึ่งถ้าหากมีความเชื่อมโยงกันจริงๆ ก็จะเป็นอันตรายกับนักดำน้ำที่มีประวัติป่วยด้วย COVID-19 อยู่แล้ว และถ้ายิ่งใช้ nitrox หรือ enriched air ที่นิยมให้มีความเข้มข้นของออกซิเจนประมาณ 32-36% มากกว่าความเข้มข้นของอากาศปกติที่ 21% ก็ไปกันใหญ่ (สมมติว่า เราดำน้ำด้วยอากาศปกติ 21% ลงไปที่ความลึก 30 เมตร ด้วย PPO2 0.84 ก็เท่ากับเราหายใจด้วยออกซิเจน 84% บนบกแล้ว)


ความที่เป็นอาการใหม่มากๆ ทำให้ทางการแพทย์และวงการวิทยาศาสตร์เอง ก็ยังไม่รู้ผลต่อเนื่องในระยะยาวอย่างแน่ชัด ก็เลยต้องสังเกตกันไปเรื่อยๆ ดังนั้น ระวังสุขภาพกันไว้ก่อนเป็นดีที่สุดนะคะ : )

.

Stay safe ค่ะทุกคน

//น้อยหน่า


Ref:

1. แปลและเรียบเรียงจาก,https://www.caymancompass.com/2020/04/24/divers-face-long-term-health-impact-from-covid-19

2. (ภาษาเยอรมัน),https://www.wetnotes.eu/tauchen-nach-covid-19-erkrankung/

3. เปเปอร์ของคุณหมอค่ะ (ภาษาเยอรมัน),https://www.wetnotes.eu/wp-content/uploads/2020/04/Tauchen-nach-Covid-19-Erkrankung_WETNOTES-36.pdf


168 views0 comments
bottom of page