top of page

โลซินถิ่นไทย?

ช่วงเดือนพฤษภาคม กับ กันยายน ของทุกปีจะเป็นช่วงที่เราสามารถไปดำน้ำที่กองหินโลซินกันได้ และทุกๆ ปีก็จะมีคนคุยกันเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยกับมาเลเซียกันตลอด ปีนี้มีหลายคนกังวลเกี่ยวกับน่านน้ำไทยกับเกาะโลซิน บางคนบอกว่าอีกหน่อยโลซินอาจจะไม่ได้อยู่ในประเทศไทย และเราจะไม่สามารถไปดำน้ำที่โลซินได้แล้วนะให้รีบๆ หาทริป (ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดนะครับ) เราเลยพยายามไปหาอ่านข้อมูลจากแหล่งต่างๆ มาแล้วเอามาสรุปให้ฟังกันฮะ

ประภาคารบนกองหินโลซิน

สำหรับคนที่ขี้เกียจอ่าน สรุปว่าโลซินยังคงอยู่ในน่านน้ำไทย และไม่ได้หายไปไหน แต่โลซินอาจจะไม่ได้มีสถานะเป็นเกาะอีกต่อไป (จริงๆ โลซินก็เหมือนว่าจะไม่ได้มีสถานะเป็นเกาะมาตั้งแต่ปี 2011 แล้ว​ ถ้าอยากรู้เหตุผล ต้องอ่านยาวๆ ข้างล่างฮะ) ซึ่งการที่มันไม่ได้เป็นเกาะ อาจจะทำให้ประเทศไทยเสียพื้นที่ทางทะเลส่วนสำคัญที่เป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่โตมหาศาลให้มาเลเซียได้หลังจากปี 2029 แต่ไม่ว่ากรณีไหน โลซินก็ยังอยู่ในเขตน่านน้ำไทยอยู่ดีฮะ ข้อมูลสรุปแบบมีรายละเอียดยาวๆ ตามนี้ฮะ

จากอนุสัญญากรุงเจนีวา ว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1958 (UNCLOS I) ข้อ 10 สามารถตีความว่าโลซิน เป็นเกาะ เพราะมีพื้นที่ดินที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ล้อมรอบด้วยน้ำ และอยู่เหนือระดับน้ำขณะน้ำขึ้น [1] เมื่อเป็นเกาะจึงสามารถมี ทะเลอาณาเขต เขตต่อเนื่อง เขตเศรษฐกิจจำเพาะ และไหล่ทวีปได้ และเมื่อเป็นเกาะ ประเทศไทยสามารถลากเส้น baseline ซึ่งไว้ใช้คำนวนพื้นที่อธิปไตยเหนือน่านน้ำ ผ่านเกาะโลซินได้ ทำให้เราสามารถ claim พื้นที่จากเส้น baseline นั้นได้อีก 200 ไมล์ทะเล


ในการกำหนดเขตทางทะเลระหว่างประเทศ ให้ทั้งสองประเทศทำความตกลงกันเพื่อให้บรรลุผลอันเที่ยงธรรม (equitable solution) โดยยืดหลักการตาม อนุสัญญากรุงเจนีวาที่ทั้งสองประเทศได้ให้สัตยาบันกันไว้ การลากเส้นแบ่งเขตน่านน้ำของไทยและมาเลเซียจึงต้องมีการตกลงกันในระดับรัฐ ในอดีตก่อนที่จะมีการคุยกันอย่างเป็นทางการ ประเทศไทยได้ออกแผนที่กำหนดอาณาเขตทางทะเลไว้เพื่อให้เอกชนมายื่นคำขออนุญาตสำรวจปิโตรเลียม เรียกว่าแผนที่ 68A (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น แผนที่ ป.1) ซึ่งในแผนที่นี้ไม่ได้ให้อิทธิพลของเกาะโลซินไว้ อย่างไรก็ตามแผนที่ฉบับนี้เป็นแผนที่ที่จัดทำขึ้นเป็นการภายในประเทศ


ภายหลังเมื่อต้องมีการทำข้อตกลงเพื่อกำหนดเขตน่านน้ำกับประเทศมาเลเซีย ประเทศไทยได้ทำแผนที่ขึ้นมาใหม่โดยให้อิทธิพลกับเกาะโลซิน (แปลง่ายๆ ว่า เราพยายามเคลมพื้นที่เพิ่มขึ้นอย่างชอบธรรมตามอนุสัญญาเจนีวา ปี 1958) ใช้ชื่อว่าแผนที่ ป.2 เพื่อใช้ในการประชุมที่เกิดขึ้นหลายครั้งตั้งแต่ปี 1973 ถึง 1978 ไทยและมาเลเซียสามารถบรรลุข้อตกลงได้ในหลายส่วนตั้งแต่การใช้กึ่งกลางของปากแม่น้ำโกลกเป็นเส้นแบ่งอาณาเขตน่านน้ำ และการใช้เส้นมัธยะเส้นชายฝั่งเพื่อลากเส้นแบ่งเขต ไปจนถึงตำแหน่งหมายเลข 4 ในภาพด้านล่าง แต่หลังจากตำแหน่งนั้นไทยและมาเลเซียไม่สามารถตกลงกันได้เพราะทางไทยให้อิทธิพลกับเกาะโลซิน จึงลากเส้นออกไปทางออกตะวันออกมากขึ้นไปที่ตำแหน่งที่ 5 (ดูแผนที่ประกอบ) แต่ทางมาเลเซียอ้างถึงแผนที่ 68A ของไทยซึ่งไม่ได้ให้ความสำคัญกับเกาะโลซิน เส้นแบ่งเขตของมาเลเซียจึงลากเอียงขึ้นทางทิศเหนือมากขึ้น เกิดเป็นพื้นที่ทับซ้อนประมาณ 7,250 ตารางกิโลเมตร (ดูภาพประกอบ) จริงๆ แล้วในช่วงแรกการเจรจานี้ประเทศไทยค่อนข้างจะได้เปรียบเพราะตามอนุสัญญา UNCLOS ปี 1958 โลซินยังคงสถานะความเป็นเกาะอยู่สามารถมีไหล่ทวีปเป็นของตัวเองได้


แผนที่แสดงเส้นแบ่งเขตเศรษฐกิจจำเพาะจัดทำโดยฝั่งไทย จากเลข 1-4 ไทยและมาเลเซียตกลงกันได้ แต่หลังจากเลข 4 เป็นต้นไปมีความทับซ้อนกัน [ข้อมูลแผนที่จาก ระบบฐานข้อมูลความรู้ทางทะเล Marine Knowledge Hub | www.mkh.in.th ]

แผนที่แสดงส่วนทับซ้อนระหว่างการกำหนดอาณาเขตของไทย และ มาเลเซีย [ข้อมูลแผนที่จาก ระบบฐานข้อมูลความรู้ทางทะเล Marine Knowledge Hub | www.mkh.in.th ]

ในช่วงเวลานั้นก็มีการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลครั้งที่ 3 (UNCLOS III) ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1973 ซึ่งแนวโน้มในขณะนั้นทั้งสองประเทศก็รับทราบมาว่าเกาะเล็กๆ อาจจะไม่ถูกจัดเป็นเกาะอีกต่อไป ซึ่งทางมาเลเซียก็ดูเหมือนจะมีความพยายามที่จะรอผลการประชุม UNCLOS III อยู่กลายๆ ด้วยการยื้อการประชุมไปเรื่อยๆ แต่จนแล้วจนรอด UNCLOS III ก็ยังไม่คลอดออกมาเสียที ในที่สุดปลายปี 1978 มาเลเซียเสนอให้ทั้งสองประเทศมาร่วมกันสำรวจและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่ดังกล่าว และพักเรื่องการแบ่งเขตประเทศไว้ก่อน ซึ่งฝ่ายไทยก็เห็นด้วย จนในที่สุดที่การประชุมที่เชียงใหม่ก็ได้บันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่างไทย-มาเลเซีย ในการใช้พื้นที่ทับซ้อนดังกล่าวร่วมกันใช้ชื่อว่า Malaysia-Thailand Joint Development Area (MTJDA) และจัดตั้งคณะกรรมการระหว่างประเทศขึ้นมาบริหารพื้นที่ภายใต้ชื่อ Malaysia-Thailand Joint Authority (MTJA) โดย MOU ฉบับนี้มีอายุ 50 ปี ซึ่งกำลังจะหมดอายุลงในปี 2029 นี้ [2]

แผนที่แสดงพื้นที่การใช้ประโยชน์ร่วมระหว่างไทยและมาเลเซีย [ข้อมูลแผนที่จาก MALAYSIA-THAILAND JOINT AUTHORITY (MTJA) | https://www.mtja.org/home.php ]

เรื่องเหมือนจะจบลงแบบ happy ending แต่แล้วในปี 1982 ในที่สุดที่ประชุมสหประชาชาติก็ได้มีมติเห็นชอบและรับรอง "อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1982" (The United Nations Convention on the Law of the Sea 1982 - UNCLOS 1982) โดยไทยได้ลงนามรับรองในปี 1982 [3] และให้สัตยาบันในอนุสัญญาดังกล่าวเมื่อปี 2011 มีผลบังคับใช้กับประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2011 เป็นต้นมา สิ่งที่ทำให้เรื่องนี้อาจจะไม่ happy ending สำหรับประเทศไทยคือนิยามของเกาะในอนุสัญญา UNCLOS III ภาค 8 Regime of Islands ระบุไว้ว่า “โขดหินที่ไม่สามารถเป็นที่อาศัยของมนุษย์ และไม่สามารถยังชีพทางเศรษฐกิจได้ (non-economic viability) ย่อมไม่มีทะเลอาณาเขต หรือเขตเศรษฐกิจจำเพาะหรือไหล่ทวีปของตน” [4] ซึ่งโลซินในปัจจุบันไม่สามารถเป็นที่อาศัยของมนุษย์และไม่สามารถยังชีพทางเศรษฐกิจได้ จึงไม่สามารถมีทะเลอาณาเขต เขตเศรษฐกิจจำเพาะหรือไหล่ทวีปของตนเอง เมื่อนำมาประกอบกับการขีดเส้นแบ่งพื้นที่ทางทะเลแล้วเส้น base line ของไทยที่ใช้ในการคำนวณเส้นมัธยะแบ่งเขตกับมาเลเซียจะถอยร่นลงไปทำให้เราอาจจะเสียพื้นที่ทางทะเลในบริเวณ JDA ไป ดังนั้นหากในปี 2029 เมื่อ MOU ระหว่างไทยกับมาเลเซียหมดอายุลง และ มาเลเซียไม่ยอมต่ออายุ MOU ออกไป ไทยและมาเลเซียอาจจะต้องมาทำข้อตกลงเรื่องอาณาเขตน่านน้ำของทั้งสองประเทศอีกครั้ง คราวนี้มาเลเซียจะได้เปรียบในการ claim พื้นทับซ้อน 7,250 ตารางกิโลเมตร โดยอาศัยข้อกฎหมายตามอนุสัญญา UNCLOS III ได้ทันที

ความสมบูรณ์ของทุ่งปะการังบริเวณกองหินโลซิน

แต่ไม่ว่ากรณีไหน จะเป็นเกาะโลซิน หรือจะเป็นแค่ กองหินโลซิน ยังไงๆ พื้นที่นี้ก็ยังอยู่ในอาณาเขตของประเทศไทยอยู่ดี ดังนั้นนักดำน้ำก็ไม่ต้องตกใจกันไปเพราะเราก็ยังคงไปดำน้ำที่เกาะโลซินได้เหมือนเดิม อ้างอิง [1] http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2512/A/044/450.PDF [2]https://www.mtja.org/about_mtja.php [3] http://www.navedu.navy.mi.th/stg/tnssc/pdf/78-un.pdf [4] http://www.mkh.in.th/index.php?option=com_content&view=article&id=270&Itemid=216&lang=th

2,029 views0 comments
bottom of page