เรื่องและภาพโดย นัท สุมนเตมีย์
ผมได้มีโอกาสนำ MWL-1 ซึ่งเป็น Underwater optic ของ Nauticam ไปทดลองใช้งานจริงในภาคสนามมาสองทริป ทั้งที่ช่องแคบเลมเบห์ ประเทศอินโดนีเซียและที่หมู่เกาะสิมิลัน เป็นเวลานานกว่าสองสัปดาห์ที่ผมมีโอกาสได้ใช้งานเจ้า MWL-1 หลังจากที่ได้ยิน Yoshi Hirata พูดถึงเจ้าเลนส์ตัวนี้มาหลายปีก่อนที่มันจะออกวางตลาดแล้วว่ามันตือ concept ใหม่สำหรับกล้อง Fullframe ไม่ว่าจะเป็น Mirrorless หรือ DSLR ที่หลายๆคนเคยอิจฉากล้อง Compact ที่สามารถถอดเปลี่ยนเลนส์ใต้น้ำได้ ในขณะที่กล้องใหญ่ๆนั้นเราจะต้องเลือกก่อนว่าใต้น้ำในไดฟ์นี้เราจะใช้เลนส์มุมกว้างหรือว่าเลนส์มาโคร
ข้อดีข้อแรกก็คือ เราสามารถเปลี่ยนมุมมองของภาพใต้น้ำได้ จากเลนส์มาโคร 60 มิลลิเมตร กลายเป็นเลนส์มุมกว้างที่ให้มุมรับภาพกว้างถึง 130 องศา ที่เหมาะสำหรับการบันทึกภาพ Close up wide angle
ข้อดีข้อที่สอง ด้วยขนาดเลนส์ที่ค่อนข้างเล็กเมื่อเทียบกับ Dome Port ที่เมื่อติดเข้ากับ port 60 มาโครแล้วเลนส์จะยื่นไปข้างหน้าเล็กน้อย ทำให้องศาในการถ่ายภาพสามารถจ่อเข้าไปใกล้ subject ได้ค่อนข้างง่ายกว่า Dome port ทั่วไป และยังช่วยให้เราสามารถจัดแสงไฟไม่ว่าจะเป็นไฟต่อเนื่องหรือแฟลชได้ง่ายเพราะว่าตัวหน้าเลนส์ที่มีขนาดเล็กจะไปไปบังแสงซึ่งมักจะเป็นปัญหาเวลาที่เราใช้ Dome port บันทึกภาพ Close up wide angle
แต่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีข้อแลกเปลี่ยน เมื่อสังเกตุให้ดีจะพบว่าในบริเวณขอบภาพเมื่อถ่ายด้วยรูรับแสงที่ไม่แคบมากนักเราจะพบว่าในบริเวณขอบภาพจะไม่คมชัดเท่ากับ Dome port ขนาดใหญ่ โดยเฉพาะเมื่อบันทึกภาพในระยะใกล้มากๆ แต่ในบริเวณกลางภาพให้คุณภาพที่คมชัดมากเพียงพอกับการใช้งานที่หลากหลาย จากการใช้งานมาผมพบว่า ถ้าต้องการรีดคุณภาพที่ดีที่สุดจาก MWL-1 ตัวนี้ควรจะต้องหรี่รูรับแสงลงมาอย่างน้อยที่ f-11 และถ้าจะถ่ายภาพในระยะใกล้มากๆ อาจจะต้องลงมาถึง f-22
ข้อจำกัดอีกอย่างหนึ่งของเลนส์ตัวนี้ก็คือน้ำหนัก ตอนที่ดำน้ำที่ช่องแคบเลมเบห์ผมไม่ค่อยรู้สึกเท่าไร แต่พอมาเจอกระแสน้ำที่สิมิลัน ผมต้องลดน้ำหนักตะกั่วที่ใช้ถ่วงลงไปอีกก้อนหนึ่ง และใช้ Float arm ขนาดใหญ่เพื่อพยุงตัวกล้องไม่ให้จมมากเกินไป
ข้อจำกัดอีกข้อหนึ่งก็คือ เลนส์ตัวนี้ถูกออกแบบมาให้ใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพกับเลนส์มาโคร 60 มิลลิเมตรที่กระบอกหน้าเลนส์ไม่ยืดออกเวลาโฟกัสซึ่งในปัจจุบันนี้มีเพียง Nikon เท่านั้นที่ผลิตเลนส์ 60 มาโครใน spec นี้ออกมา ซึ่งสามารถใช้งานได้กับทั้งกล้อง DSLR และ Mirrorless เมื่อต่อกับ Adapter
ข้อดีข้อสุดท้ายก็คือไปสิมิลันเที่ยวนี้ผมแพ็คของได้เล็กมาก เพราะไม่ต้องเพื่อพื้นที่สำหรับ Dome port และเลนส์ตัวที่สอง อุปกรณื housing และกล้องรวมทั้งไฟแฟลชผมใส่ลงในกระเป๋าเป้ขึ้นเครื่องได้สบายๆ แต่ในคราวนี้ผมเอาไฟวีดีโอไปด้วยก็เลยต้องมีกระเป๋าถือเล็กๆเพิ่มขึ้นอีกใบ
ในระหว่างไดฟ์ก็ไม่ต้องคอยมาเลือกเปลี่ยนเลนส์ว่าไดฟ์นี้จะไวด์หรือมาโครดี
ในการทดสอบในครั้งนี้ผมขอยืม Housing มาจากเพื่อนคนหนึ่ง และยืม Body Nikon D850 และ เลนส์ 60 มาโครมาจาก Pixpros house สะพานควาย
สรุปว่า MWL-1 เป็น Concept ที่ดีสำหรับการถ่ายภาพใต้น้ำ แต่การใช้งานเราต้องศึกษาทำความเข้าใจให้ดีก่อน ในครั้งแรกที่ผมทดลองประกอบกล้องดูบนบกแล้วถ่ายภาพออกมาก็ตกใจว่าทำไมขอบภาพมันเบลอและมีขอบดำๆ แต่เมื่อทดลองมาใช้งานในน้ำแล้วก็พบว่าให้คุณภาพ Optic ที่ดีเยี่ยมสมกับที่เป็น Nauticam ถ้าจะถามผมว่าเราจะใช้ MWL-1 แทนที่ Dome port ได้เลยไหม ผมคิดว่าอาจจะมีข้อจำกัดบางอย่างที่แตกต่างกัน เช่น MWL-1 ใช้ถ่ายภาพครึ่งบกครึ่งน้ำไม่ได้ เพราะมันถูกดีไซน์มาเพื่อใช้งานในน้ำคล้ายๆกับ เลนส์ 15 มิลลิเมตรของ Nikonos ที่โด่งดังในอดีต
แต่ MWL-1 เป็น Optic ที่เข้ามาเติมช่องว่างที่ขาดหายไปสำหรับการใช้งานใต้น้ำบางอย่าง โดยเฉพาะการถ่าย Close up Wide angle ได้ดีมากๆครับ
ขอขอบคุณ Nauticam Thailand ที่สนับสนุนให้ยืม MWL-1 มาใช้เพื่อการทดสอบในครั้งนี้ครับ
Comments