top of page

ดำน้ำยังไงให้ห่างไกล Covid-19

Updated: May 22, 2020

เนื่องจากสถานการณ์โรค Covid-19 น่าจะยังไม่จบลงง่ายๆ แต่จะอย่างไรเราก็ต้องใช้ชีวิตกันต่อ ดำน้ำก็อยากไป ทริปดำน้ำในประเทศก็เริ่มทยอยเปิดขายทริปกันแล้ว ทำยังไงกันดี digitalay เลยไปปรึกษาคุณหมอ พญ.​ดารินทร์ อารีย์โชคชัย หัวหน้าทีมยุทธศาสตร์การตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน covid-19 กรมควบคุมโรค ว่าเราต้องปฏิบัติตัวอย่างไรในการออกทริปดำน้ำ ก็ได้รับคำแนะนำและเอกสารประกอบต่างๆ มามากมาย ซึ่งเราจะขอสรุปข้อมูลเหล่านี้มาเป็นคำแนะนำในการออกทริปดำน้ำให้ปลอดภัยจากเชื้อไวรัส


ก่อนอื่นเลยอยากให้ทุกคนเข้าใจเกี่ยวกับพื้นฐานของเชื้อไวรัสตัวนี้ก่อน ว่าเชื้อตัวนี้พบมากในน้ำมูกและน้ำลาย แต่ไม่พบในเหงื่อและปัสสาวะ การติดต่อส่วนใหญ่เกิดจากการที่เราเอามือไปจับของที่มีเชื้อปนเปื้อนแล้วเอามาขยี้ตา แคะจมูก หรือจับอาหารทาน อีกหนึ่งกรณีหลักคือการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อจากละอองฝอยของคนที่เป็นพาหะ ดังนั้นการป้องกันที่ดีที่สุดคือการล้างมือบ่อยๆ ด้วยวิธีที่ถูกต้อง ไม่เอามือไปแตะใบหน้า และใส่หน้ากากป้องกันเชื้อ (ในที่นี้ให้คิดว่าเราก็อาจเป็นพาหะ เราต้องรับผิดชอบสังคมด้วยการป้องกันไม่ให้น้ำมูก น้ำลายของเราไปปนเปื้อนหรือเลอะเทอะของสาธารณะด้วยการใส่หน้ากากกันเชื้อ)


จากพื้นฐานดังกล่าว กับข้อปฎิบัติที่แนะนำโดยกรมควบคุมโรค [1] และข้อปฏิบัติสำหรับการดำน้ำของ DAN [2] เราได้สรุปข้อมูลมาเป็น คำแนะนำที่ควรปฏิบัติในการไปดำน้ำในแบบของ digitalay ได้ดังนี้


อาหารและเครื่องดื่ม

  • ล้างมือด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง

  • อาหาร ควรจะต้องแยกสำรับของแต่ละคน โดยก่อนเสิร์ฟ อาหารทุกอย่างต้องอยู่ในภาชนะปิดมิดชิด ผู้รับประทานควรจะเป็นคนเปิดสำรับอาหารเอง อาจจะมาในรูปแบบของปิ่นโต หรือกล่องอาหารของใครของมัน และ ติดชื่อที่กล่องหรือปิ่นโตให้ชัดเจน

  • พกช้อน-ส้อม ของตัวเอง ติดชื่อให้ชัดเจน

  • เว้นระยะห่างในการนั่งรับประทานอาหาร หลีกเลี่ยงการนั่งหันหน้าเข้าหากัน

  • เครื่องดื่มสามารถใช้ระบบกดน้ำได้ แต่ไม่แนะนำให้ใช้แก้วของเรือเนื่องจากอาจสลับแก้วได้ง่าย (ยกเว้นเขียนชื่อติดให้ชัดเจน) แนะนำให้นำกระติกน้ำส่วนตัวไปเติมน้ำจากตู้กดของเรือจะปลอดภัยกว่า อย่าลืมติดชื่อบนกระติกน้ำด้วย ป้องกันการสลับกับของคนอื่นๆ

  • ขนมขบเคี้ยว ถ้าเป็นไปได้ให้หลีกเลี่ยงการหยิบขนมด้วยมือ งดทานขนมปี๊บ (เพราะไม่รู้ใครหยิบอะไรไปบ้างก่อนหน้า) ขนมถุงหากต้องการรับประทาน ให้ทานถุงใครถุงมันหรือเทใส่จานและแบ่งจานใครจานมัน

คำแนะนำสำหรับเรือ 
- เตรียมเจลแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือให้เพียงพอต่อลูกทริป
- เสิร์ฟอาหารใส่ปิ่นโตหรือกล่องแยกแต่ละคนพร้อมช้อนส้อม ติดชื่อลูกทริปบนภาชนะให้ชัดเจน
- ล้างภาชนะทุกอย่างให้สะอาดตามคำแนะนำของกรมควบคุมโรค
- จัดสลับช่วงเวลาทานอาหาร เพื่อไม่ให้เกิดความแออัดในช่วงมื้ออาหาร
- ใช้ระบบตู้กดน้ำจะช่วยลดขยะพลาสติกได้เยอะ ควรจะเตรียมแก้วสำหรับลูกทริปแต่ละคน และติดชื่อให้ชัดเจน 


ห้องนอนและห้องน้ำ

  • ควรนอนแยกคนละห้อง ยกเว้นครอบครัวเดียวกันที่ปกติอยู่บ้านเดียวกันอยู่แล้ว

  • ผ้าเช็ดตัวให้ระวังอย่าสลับกับของคนอื่น

  • หลีกเลี่ยงการวางแปรงสีฟัน และอุปกรณ์อาบน้ำส่วนตัวไว้ในห้องน้ำรวม (หากเป็นห้องน้ำ en-suite ไม่มีปัญหา)

คำแนะนำสำหรับเรือ
 - ลดจำนวนนักดำน้ำในทริปให้คิดเผื่อ social distance ในการใช้พื้นที่ส่วนกลางร่วมกัน โดยเฉพาะช่วงรับประทานอาหาร และ การ briefing
 - หากเป็นระบบแอร์รวม ควรจะเปิดแอร์ไว้ตลอดทริป ไม่ควรปิดเพราะเมื่อปิดเชื้ออาจจะย้อนกลับเข้า duct แอร์ได้ หากจำเป็นต้องปิดแอร์ไม่ควรให้คนอยู่ในห้อง

การดำน้ำ

  • หากจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์เช่า หลีกเลี่ยงการใช้น้ำลายในการกันฝ้าที่หน้ากาก (ถ้าเป็นของส่วนตัวก็ตามสะดวกครับ เนื่องจากเชื้อใคร เชื้อมันอยู่แล้ว)

  • ระหว่างการพักน้ำ ควรเก็บหน้ากากไว้ในกล่องปิดมิดชิด และหาถุงครอบ second stage เพื่อป้องกันเชื้อจากละอองฝอยจากพาหะ

  • ระหว่างการพักน้ำ หากเป็นไปได้ควรพักผ่อนในบริเวณภายนอกที่อากาศถ่ายเทสะดวก หลีกเลี่ยงการรวมกลุ่มจำนวนมากในห้องปิด เช่น รวมตัวดูหนังในห้อง saloon โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากห้องปิดนั้นมีขนาดเล็ก ไม่สามารถรักษา social distance ที่ดีได้

คำแนะนำสำหรับเรือ
- จัดสลับเวลาการดำน้ำเพื่อลดความแออัดบริเวณ dive platform ในช่วงแต่งตัว
- แยก dive briefing เป็นกลุ่มย่อย หลีกเลี่ยงการรวมตัวกลุ่มใหญ่
- ให้พนักงานทุกคนใส่หน้ากากตลอดเวลาที่ปฏิบัติงานบริเวณ dive platform และบริเวณเติมอากาศ


อุปกรณ์ดำน้ำ

  • หลีกเลี่ยงการเช่า mask, snorkel และ regulator - สำหรับ mask และ snorkel แนะนำให้ซื้อเป็นของตัวเอง ส่วน regulator หากจำเป็นต้องเช่า แนะนำให้ซื้อ mountpiece นำไปเปลี่ยน ก่อนใช้งานควรฆ่าเชื้อ regulator ที่เช่ามาตามคำแนะนำด้านล่าง

  • เมื่อจบทริป ล้างอุปกรณ์และฆ่าเชื้อให้สะอาด (ดูวิธีการล้างและฆ่าเชื้ออุปกรณ์ด้านล่าง)

  • สำหรับเวทสูท ส่วนที่ต้องระวังคือช่วงแขนเสื้อ เนื่องจากเราอาจจะเผลอนำไปสัมผัสหน้า และอาจจะติดน้ำมูกน้ำลายมาได้บ้าง ส่วนด้านในเวทสูทไม่มีปัญหาเท่าไหร่นัก เนื่องจากไม่พบเชื้อ Covid-19 ในเหงื่อ หรือ ในปัสสาวะ เมื่อใช้เสร็จแล้วแนะนำให้ล้างเวทสูทตามปรกติ

  • หลีกเลี่ยงการล้างอุปกรณ์ในถังล้างอุปกรณ์รวม ยกเว้นถังที่ใส่น้ำยาฆ่าเชื้อตามคำแนะนำด้านล่าง

คำแนะนำสำหรับการล้างและฆ่าเชื้ออุปกรณ์ดำน้ำ

อุปกรณ์ดำน้ำควรล้างและฆ่าเชื้อก่อนใช้งาน และหลังทริปดำน้ำตามคำแนะนำของผู้ผลิตดังนี้

  • ล้างอุปกรณ์ทั้งหมดด้วยน้ำผสมสบู่ หรือ น้ำผสมน้ำยาล้างจาน (ไม่ต้องเข้มข้นมาก) และล้างออกด้วยน้ำสะอาดให้ทั่ว (กรุณาศึกษาวิธีล้างอุปกรณ์ที่ถูกต้องจากผู้ผลิตแต่ละเจ้า)

  • จากนั้นนำอุปกรณ์ส่วนที่มีโอกาสสัมผัสเชื้อ เช่น หน้ากาก, snorkel, oral inflator (หัวเป่าเติมลมบนบีซีดี), และ second stage ไปแช่ในน้ำยาฆ่าเชื้อตามเวลาที่องค์กรสาธารณสุขแนะนำ แล้วล้างน้ำเปล่าให้สะอาดเป็นลำดับสุดท้าย ข้อควรระวัง!!! เวลาแช่ regulator ให้แช่น้ำยาเฉพาะตัว second stage ที่เราคาบหายใจ ไม่จำเป็นต้องแช่ regulator ทั้งชุด และ ไม่ควรให้สายท่อสัมผัสน้ำยาเป็นเวลานาน

น้ำยาฆ่าเชื้อที่องค์กรสาธารณสุขแนะนำ [3] มีหลายชนิด บางชนิดที่มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อสูงแต่อาจจะเป็นอันตรายกับอุปกรณ์ดำน้ำ หรือบางชนิดอย่าง Hydrochlorous Acid (HOCI) ฆ่าเชื้อดีมากแถมไม่เป็นอันตรายต่ออุปกรณ์ใดๆ แต่ก็ไม่รู้จะไปหาจากไหน digitalay เลยขอเลือกน้ำยาที่หาง่ายในท้องตลาด และเป็นอันตรายกับอุปกรณ์ดำน้ำไม่มากนักมาให้เลือกใช้กันตามนี้

  1. สาร sodium hypochlorite (NaOCI) ความเข้มข้น 0.1% ต้องแช่อย่างน้อย 5 นาที [4] ตัวอย่างเช่น น้ำยาฟอกขาวไฮเตอร์ มี sodium hypochlorite 6% w/w วิธีใช้: ผสมน้ำยา 17 มิลลิลิตร (1.1 ช้อนโต๊ะ) : น้ำ 1 ลิตร แช่อุปกรณ์อย่างน้อย 5 นาที [5] ข้อควรระวัง!!! น้ำยาฟอกขาวมีฤทธิ์กัดกร่อนหากความเข้มข้นสูงเกินไปอาจทำให้โลหะบางชนิดเกิดสนิมหรือเสียรูปและอาจทำให้พลาสติกเสื่อมสภาพได้เมื่อสัมผัสน้ำยาเป็นเวลานาน อีกทั้งการผสมน้ำยาอาจเกิดสารพิษ จึงควรใช้ถุงมือยางและผสมในที่อากาศถ่ายเทสะดวกเท่านั้น

  2. สาร chloroxylenol (C8H9ClO) ความเข้มข้น 0.12% ต้องแช่อย่างน้อย 10 นาที [4] ตัวอย่างเช่นน้ำยา Dettol antiseptic disinfectant liquid ที่ใช้ล้างแผลได้ สังเกตที่ฉลากต้องมีมงกุฎสีฟ้าเหนือโลโก้ (หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป) มีสารออกฤทธิ์เป็น chloroxylenol 4.8% วิธีใช้ : ผสมน้ำยา 1 ส่วน ต่อน้ำ 39 ส่วน แช่อุปกรณ์ไว้อย่างน้อย 10 นาที ข้อควรระวัง!!! อย่าสับสนกับ Dettol hygiene multi-use disinfectant หรือผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคอเนกประสงค์ ที่วางขายใน super market ทั่วไปเนื่องจากขวดและสลากมีลักษณะคล้ายกันแต่สารออกฤทธิ์เป็นคนละตัวกัน

หมายเหตุ : สารเคมีทั้ง 2 ชนิด อาจจะมีผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม และสัตว์ ดังนั้นจึงควรใช้ด้วยความระมัดระวัง และใช้ในปริมาณที่พอเหมาะเท่านั้น


2,118 views0 comments
bottom of page