top of page

รีวิว Nauticam WWL-C ติดเขี้ยวเล็บกล้องคอมแพคให้กว้าง-คม-ชัด-ใสมากขึ้น

เราเรียกมันว่า “เลนส์โดนัท” เพราะรูปร่างของวงห่วงอากาศที่ล้อมรอบมันอยู่ ห่วงอากาศนี้จะช่วยให้เลนส์น้ำหนักเบาขึ้นเมื่ออยู่ใต้น้ำ สิ่งนี้คือ wide angle wet lens รุ่นล่าสุดของค่าย Nauticam สิ่งที่มันทำนอกจากขยายมุมภาพให้กว้างขึ้นแล้ว ยังทำให้ได้ความคมขัดที่มากกว่าไม่ได้ใส่เลนส์ด้วย!!


Nauticam เริ่มทำ wet wide lens (WWL)สำหรับกล้องมาหลายรุ่น ถ้าย้อนไปจนถึงตัวแรกที่เราจำได้ก็ตั้งแต่ 5 ปีก่อน ตอนที่ได้ลองเอาไปใช้งานจำได้ถึงความลำบากในการต้องเกร็งข้อมือเพื่อยกหน้ากล้องให้แหงนขึ้นได้มุมที่ต้องการ wet lens รุ่นแรกของ Nauticam มีน้ำหนักที่โหดร้ายเกินคำว่าสบายไปมาก

เรื่องนึงที่เราเรียนรู้จากการถ่ายภาพมาหลายปีคือ เลนส์คือสิ่งที่ช่างภาพควรลงทุน กล้องที่ดีช่วยให้เราทำงานง่ายขึ้น แต่เลนส์ที่ดีจะให้คุณภาพของภาพที่ออกมาต่างกันอย่างเห็นได้ชัด


การสร้างเลนส์แต่ละตัวคือการซ้อนกันของกระจกหลายๆ ชิ้น ส่งต่อแสงที่หักเห ไปสู่ตัวกล้อง โดยปกติแล้วไม่มีเลนส์ที่สร้างจากกระจกชิ้นเดียว คำว่าเลนส์จึงสะกดด้วยตัว s ปิดท้ายเสมอ เลนส์บางตัวจะหนักมากเพราะซ้อนด้วยกระจกหนาหลายชิ้น แต่ละชิ้นมีหน้าที่ต่างกัน ตั้งแต่การขยาย ลดความเบลอของขอบภาพ รวบขอบฟุ้งสีเข้า ทั้งหมดคือเพื่อให้ได้ภาพที่คมและคุณภาพของภาพที่ดี

WWL-C สำหรับกล้องคอมแพค
WWL-C หรือที่เราเรียกเล่นๆ ว่าเลนส์โดนัท สำหรับกล้องคอมแพค

ปลายปีที่แล้ว เราได้ไปดำน้ำกับทีมผู้ผลิต Nauticam (และผู้ผลิต Keldan ซึ่งจะทยอยเขียนถึงในตอนต่อๆ ไป) และได้มีโอกาสลองใช้เลนส์ wet wide lens รุ่นล่าสุด ซึ่งมีชื่อทางการค้าว่า WWL-C เพราะออกแบบมาให้ใช้กับกล้องคอมแพคโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็น Sony ตระกูล Rx100, Panasonic ตระกูล LX100, Canon ตระกูล G7x และOlympus ตระกูล TG ทุกรุ่น





ที่เราได้จับในรอบนี้คือประกบกับกล้อง Olympus TG6 เลยเอามาเล่าให้ฟังกัน

วงโดนัทที่ล้อมรอบเลนส์อยู่ทำให้การใช้งานง่ายขึ้นกว่ารุ่นแรกที่เราเคยใช้มามาก ไม่ต้องเกร็งข้อมือเพื่องัดหน้ากล้องขึ้นฟ้าอีกต่อไป ส่วนหนึ่งของภาพมุม wide ที่สวยติดตา คือมุมงัดขึ้นไปหาแสงแดดด้านบน การที่หน้ากล้องไม่หนักทิ้งลงตลอดคือข้อดีที่ทำให้ถ่ายภาพมุมแบบนี้ได้ง่ายขึ้น

ภาพมุมเงยงัดขึ้นฟ้า มุมมาตรฐานของการถ่ายภาพ wide angle

WWL รุ่นก่อนหน้านี้มีตัวห่วงโดนัทแบบถอดเข้าออกได้เป็นอุปกรณ์เสริม แต่สำหรับ WWL-C นี้ ห่วงโดนัทถูกผลิตให้ยึดติดมาพร้อมเลย ไม่สามารถถอดได้ แต่ขนาดและตำแหน่งของมันไม่ได้เกะกะเวลาใช้งานเท่ากับแบบถอดใส่รุ่นก่อน เรียกได้ว่าเป็นการออกแบบที่แก้ไขจุดบกพร่องเดิมได้ดี


WWL-C ช่วยขยายมุมของภาพให้กว้างขึ้น ในกรณีของ Olympus TG6 ที่เราได้ใช้ คือขยายจาก 24 mm ของกล้องเปล่าๆ ให้กว้างขึ้นเทียบเท่ากับมุมภาพของเลนส์ 10 mm โดยประมาณ และให้ความป่องแบบเลนส์ fisheye นิดๆ การที่มุมภาพกว้างขึ้นทำให้เราขยับเข้าใกล้วัตถุที่เราจะถ่ายได้มากขึ้น เมื่อระยะห่างน้อยลง ความคมชัด และสีสันก็จะมีมากขึ้นตามมา

ถึงแม้จะเรียกว่าเป็น Wet Lens ซึ่งแปลว่าถอดใส่ใต้น้ำได้ แต่พอเราเอามาถึงใช้งานแล้วพบว่า สามารถใช้ซูมจากกล้องเพื่อเปลี่ยนมุมมองได้โดยที่ไม่ต้องถอดเจ้าเลนส์โดนัทนี่ออกเลย กล้องสามารถโฟกัสได้ทุกระยะซูม ซึ่งทำให้ยืดหยุ่นในการใช้งานมากๆ


ในจังหวะนึงที่เรากำลังเล็งถ่ายฟองน้ำก้อนใหญ่กับฟ้าใสๆ ด้านบนอยู่ ก็มีกระเบนลายสวยมากตัวขนาดประมาณ 2 ฝ่ามือว่ายผ่านมา ถ้าเทียบกับฟองน้ำ กระเบนถือว่าเป็นของชิ้นเล็กไปเลย เราไม่ต้องถอดเลนส์โดนัทออก แต่ใช้ซูมจากกล้องก็สามารถถ่ายครอบส่วนหัวและตากระเบนได้ด้วย ซึ่งความยืดหยุ่นในระหว่างการใช้งานนี้คือสิ่งที่คุณ Edward ผู้ออกแบบเลนส์ตัวนี้ ต้องการให้คนใช้งานได้รับไปอย่างเต็มที่

แถมเมื่อเอาไปถ่ายวัตถุชิ้นเล็กๆ กล้อง TG ก็ยังทำหน้าที่ของเจ้าพ่อมาโครได้อย่างดีถ้าดันซูมออกกว้างสุด และเข้าใกล้วัตถุก็จะได้มุม wide angle close focus หน่อยๆ ทำให้เห็นสภาพแวดล้อมและถิ่นที่อยู่อาศัยของ subject ซึ่งเป็นมุมมองที่อินเทรนด์ในช่วงสองสามปีหลังของการถ่ายภาพสัตว์ป่าในธรรมชาติ

ในส่วนของคุณภาพภาพที่ได้มา เรียกว่ามันดีจนน่าตกใจ ภาพที่ได้คือดีกว่าถ่ายด้วยกล้องเปล่าๆ ไม่ใส่เลนส์โดนัทเสียอีก!!!


ใช่ค่ะ ฟังดูเหมือนโม้ แต่ขอเราอธิบายให้ฟังเพิ่มอีกหน่อย


กล้องทั่วไปเมื่อนำลงไปถ่ายใต้น้ำ คุณภาพความคมชัดของภาพจะลดลงเมื่อเทียบกับการใช้งานบนบก นั่นเป็นเพราะแสงเมื่อผ่านตัวกลางหลายต่อ จากน้ำ มากระจก มาอากาศในเฮาส์ซิ่ง จะเกิดการกระเจิงสูงกว่าที่มันทำบนบกอย่างมหาศาล ผู้ผลิตกล้องและเลนส์ทั่วไปไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรับมือการกระจายตัวแบบนี้


เลนส์ WWL-C ทำหน้าที่รวบการกระเจิงกระจายที่น้ำทำ ให้กลับเข้าสู่เส้นทางที่ถูกต้องแล้วส่งผ่านต่อเข้าหน้ากล้องไป จึงให้ผลลัพท์เป็นภาพที่คมกว่าไม่ได้ใช้เลนส์ตัวนี้


ฟังดูเวอร์ แต่มันคือเรื่องจริง!

เลนส์เสริมที่เราเคยใช้มาส่วนใหญ่จะให้ภาพที่คุณภาพตกลง เพราะชิ้นเลนส์ที่เพิ่มขึ้นถ้าไม่ได้ออกแบบมาให้ดี จะเพิ่มการกระเจิงของแสงให้ยุ่งเหยิงมากขึ้น แต่เลนส์โดนัท (และเลนส์ของ Nauticam ทุกตัวที่เราได้ลองใช้มา) ออกแบบมาโดยคำนึงถึงคุณภาพภาพไว้ในใจตลอดเวลา (ส่งผลมาสู่ราคาและน้ำหนักของเลนส์ทุกตัวที่เค้าผลิต 555)


ชวนดูภาพที่ได้มาจาก เลนส์โดนัท WWL-C ทำให้กล้อง compact สุดๆ อย่าง TG6 มีการกระเจิงแสงที่ทำให้เกิดขอบฟ้า ขอบม่วงนั้นน้อยมาก ขอบภาพก็เรียกได้ว่าแทบจะไม่มีความเบลอ ภาพที่เราเอามาให้ดูนี้process น้อยมาก ปรับสีและ contrast เล็กน้อย เพื่อให้ได้เห็นผลที่ได้จากเลนส์จริงๆ


สำหรับเลนส์ WWL-C รุ่นโดนัทนี้ มีอุปกรณ์เสริมมารองรับให้ใช้ได้กับ housing original ของ Olympus เองได้ด้วย เป็น step เกลียวให้สามารถใส่กับตัวล็อกแบบ bayonet ที่เป็นลิขสิทธิของ Nauticam


สรุป

  • เลนส์โดนัท WWL-C เทียบเท่ากับการติดเขี้ยวเล็บเพิ่มให้กับกล้องคอมแพค ถ้าเจอฉลามวาฬหรือแมนต้าก็ไม่ต้องถอยไปไกลเพื่อเก็บให้ได้ทั้งตัวอีกต่อไป

  • แต่สิ่งที่เราชอบคือความยืดหยุ่นแบบพกตัวเดียวจบ ไม่ต้องเลือกว่าไดฟ์นี้จะเอาเลนส์มุมกว้างหรือเอาเลนส์มุมแคบเหมือนแบบกล้อง slr ซึ่งนี่คือข้อเด่นของกล้องคอมแพคที่ชนะใจหลายคน

  • แถมคุณภาพของภาพที่ได้มาสุดท้าย ก็แจ่มแจ๋วแบบ HD คมกริบ เกินหน้าเกินตาภาพแบบที่ไม่ใส่เลนส์อีกด้วย


ของ lot แรกเข้าไทยมาแล้ว ใครสนใจก็ตามไปสอบถามต่อได้ที่ divesupply bkk หรือตัวแทนจำหน่ายที่สนิทสนมกันโลด

1,139 views0 comments
bottom of page